ศาลอาญายกฟ้อง 21 จำเลยคดีพันธมิตรฯ ปิดล้อมรัฐสภา หลังศาลฎีกาจำคุก 6 แกนนำคดียึดทำเนียบฯ

แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สนธิ ลิ้มทองกุล (จากซ้ายไปขวา) คือ 3 จาก 5 แกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ

ในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ชุมนุมบุกยึดทำเนียบรัฐบาลในสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้แกนนำถูกฟ้อง และศาลฎีกาเพิ่งมีคำตัดสินเมื่อไม่นานนี้ ให้จำคุกแกนนำ 6 คน เป็นเวลา 8 เดือนในคดีบุกยึดทำเนียบ ส่วนคดีปิดล้อมรัฐสภา ศาลอาญายกฟ้อง วานนี้ (4 มี.ค.)

กลุ่มพันธมิตรฯ นำโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล นักธุรกิจเจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ เป็นกลุ่มที่ต่อต้านนายทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งพวกเขามองว่าตกอยู่ใต้อิทธิพลของนายทักษิณ

ในคดีปิดล้อมรัฐสภา พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ และแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 21 คน เป็นจำเลยที่ 1 - 21 ความผิดที่โจทก์ฟ้อง มี 5 ข้อหา รวมถึง ใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 21 คน โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำสืบของคู่ความทั้งสองเเล้ว เห็นว่าการที่เเกนนำปราศรัยให้ประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกมองว่าเป็นตัวเเทนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น) เป็นการปราศรัยให้ความรู้ต่อประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล เเละกรณีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค รวมถึงคดีที่ทำให้กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก

ผู้ประท้วง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กรณีความวุ่นวายในการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 ตามการรายงานของข่าวสด ศาลระบุว่า เป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มจำเลยก่อนหน้านั้นจะไม่สงบ

อีกทั้งการชุมนุมของจำเลยทั้ง 21 เป็นการชุมนุมเเสดงสัญลักษณ์ มีการปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนเเรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 63 ได้รองรับไว้ เเละเเม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง เเต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมเเสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งเเต่วันที่ 5-7 ต.ค. ไม่ปรากฏว่ามีความรุนเเรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย

ส่วนกรณีความวุ่นวายในการชุมนุมช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 ศาลระบุว่า เริ่มจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังยิงเเก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเปิดทางให้นายสมชาย เข้าไปเเถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยพลันด่วน ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทันตั้งตัวเเละได้รับบาดเจ็บความเสียหายไม่สามารถระงับอารมณ์ ขว้างปาขวดน้ำสิ่งของโต้ตอบ กรณีเป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มจำเลยก่อนหน้านั้นจะไม่สงบ

นอกจากนี้ศาลยังระบุว่า อีกทั้งเหตุการณ์อื่นตามฟ้องของอัยการก็ไม่ปรากฏว่า มีเเกนนำไปอยู่บริเวณที่เกิดเหตุที่จะเกี่ยวข้อง เเละเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. การกระทำของจำเลยทั้ง 21 จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้อง

ด้านทนายฝ่ายจำเลยระบุภายหลังรับฟังคำพิพากษาว่า ต้องรอดูว่าอัยการจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ ถ้าไม่อุทธรณ์ก็เป็นบุญของเรา จะได้เบาลงหน่อย

นายสนธิ ลิ้มทองกุล (ซ้าย) พูดคุยกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายสนธิ ลิ้มทองกุล (ซ้าย) และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ

ก่อนหน้านี้มื่อ 13 ก.พ. 2561 ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีที่อดีตแกนนำพันธมิตรฯ บุกยึดทำเนียบรัฐบาล ระหว่างวันที่ 26 ส.ค. - 3 ธ.ค. 2551 โดยแกนนำพันธมิตร 6 คน ถูกตัดสินจำคุก คนละ 8 เดือนโดยไม่รอลงอาญา จำเลยดังกล่าวประกอบด้วย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี แกนนำพันธมิตรฯ และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ

เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า อัยการโจทก์ฟ้องระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำจัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้ นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ผู้ประท้วง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดีที่กลุ่มพันธมิตรปิดล้อมรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียง กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ

ต่อมาหลังจากนายสมัคร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แล้วนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมีกำหนดวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 7 ต.ค. 2551 ปรากฏว่าวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวก ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้าออกทำเนียบทุกด้าน ได้ใช้เครื่องมือทำลายกุญแจประตูทำเนียบ และทำลายแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบ

จนถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2551 พวกจำเลยซึ่งไม่ได้รับอนุญาต ได้ร่วมกันรื้อทำลายสิ่งกีดขวางแล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาลแล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัย

สมชาย วงศ์สวัสดิ์

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 7 ต.ค. 2551 รวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงเกิดเหตุ

และช่วงวันที่ 26 ส.ค. - 3 ธ.ค. 2551 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาลซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนาม หน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กโทรนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท โดยจำเลยทั้ง 6 คนให้การปฏิเสธ

ข่าวสดรายงานว่า ศาลพิจารณาฎีกาของจำเลยทั้ง 6 แล้วเห็นว่า ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่จำเลยอ้าง เพราะพฤติการณ์ของจำเลยและผู้ชุมนุมได้ปีนรั้วเข้าทำเนียบรัฐบาลที่ล็อกไว้ และอยู่ต่อเนื่อง ทำลายทรัพย์สินเสียหาย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 6 ฐานร่วมกันบุกรุกทำให้เสียทรัพย์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้ง 6 ฟังไม่ขึ้น

กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ในทำเนียบรัฐบาล

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มพันธมิตรบุกยึดทำเนียบระหว่าง 26 ส.ค. - 3 ธ.ค. 2551

ส่วนที่จำเลยทั้ง 6 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่าเมื่อการกระทำของจำเลยทั้ง 6 และพวก ได้บุกเข้าทำเนียบซึ่งแม้เป็นสาธารณสมบัติ แต่ก็เป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดิน เป็นศูนย์รวมหน่วยงานราชการหลายแห่ง มีการทำลายทรัพย์สินหลายรายการ

ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 6 เป็นเวลา 8 เดือน ไม่รอลงอาญานั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทย ปี 2551 ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2551 และได้เริ่มการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างยืดเยื้อทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ โดยระบุว่า รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ เป็นหุ่นเชิดตัวแทนของนายทักษิณ รวมทั้งยังได้กล่าวหารัฐบาลว่า ฉ้อราษฎร์บังหลวง ใช้อำนาจโดยมิชอบ และไม่รักชาติ ผู้ประท้วงได้ปิดถนนและการจราจรในกรุงเทพฯ นานหลายเดือน ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลใช้กำลังทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมของพันธมิตรฯ หลายครั้ง โดยที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการป้องกันและระงับเหตุอย่างจริงจัง

ปัจจุบันแกนนำกลุ่มพันธมิตร เผชิญคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดรวม 6 คดี แบ่งเป็น คดีอาญา 4 คดี และคดีแพ่งอีก 2 คดี ได้แก่ คดีก่อการร้ายจากการชุมนุมปิดสนามบินปี 2551 (คดีหมายเลขดำ อ.973/2556), คดีชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาปี 2551 (คดีหมายเลขดำ อ.4924/2555), คดีชุมนุมดาวกระจายขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ปี 2551 (คดีหมายเลขดำ อ.3973/2558), คดีชุมนุมต้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ผิด พ.ร.บ.มั่นคง เมื่อปี 2554 (คดีหมายเลขดำ อ.607/2548), คดีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดสนามบินปี 2551 (คดีหมายเลขดำ 6453/2551), และคดีฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดสนามบินปี 2551 โดยบริษัท วิทยุการบิน เรียกค่าเสียหายกว่า 103 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี (คดีหมายเลขดำ 6412/2552)